วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิกฤติ “พะยูน” เมืองตรัง วันที่ใกล้สูญพันธุ์

ในช่วงปี 2555-2556 นี้ ถือเป็น “ช่วงวิกฤตช่วงหนึ่งของพะยูน” สัตว์อนุรักษ์ชื่อดัง
ของจังหวัดตรัง หลังจากที่พบว่ามีการตายลงไปไม่น้อยกว่า 25 ตัวแล้ว
       
พะยูนถูกชาวประมงโหดทุบหัวตายหลังติดอวน


       ทั้งนี้ สาเหตุส่วนใหญ่ของความสูญเสียมักจะมาจากเครื่องมือประมง โดยเฉพาะเบ็ดราวไว 
และอวนปลากระเบน ซึ่งเมื่อไปเกี่ยว หรือพันเข้าทำให้พะยูนไม่สามารถขึ้นมาหายใจได้จนสำลักน้ำ 
และตายในที่สุด 
       
       แม้พื้นที่โดยรอบเกาะลิบง แหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนที่ใหญ่สุดของไทยในเวลานี้ 
จะถูกประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของกุ้งหอยปูปลา จึงทำให้
ชาวบ้านบางคนยอมลักลอบเข้ามาทำประมง จนส่งผลรบกวนต่อพะยูน และสัตว์ทะเล
หายากนานาชนิด
       
       ดังนั้น ตัวแทนชาวบ้านริมชายฝั่งจึงได้เสนอ 4 มาตรการหลัก ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง 
ให้กำหนดเขตวิ่งเรือโดยสาร เขตใช้เครื่องมือประมง เขตเศรษฐกิจชุมชน และเขตอนุรักษ์สำหรับ
พะยูน สัตว์ทะเลหายาก รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพอย่างชัดเจน
       


       นายยะสาด อวนข้อง แกนนำนักอนุรักษ์เกาะลิบงระบุว่า พวกตนคงไม่สามารถปกปักรักษา
สัตว์ทะเลเหล่านี้เอาไว้ได้ หากทุกฝ่ายไม่เข้ามาช่วยกัน มิเช่นนั้น อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า 
ก็คงสูญพันธุ์ไปหมดสิ้น
       
       ส่วน นายอิสมาแอน เบ็ญสะอาด แกนนำชมรมการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ชุมชนเกาะลิบง 
มองว่า ในปี 1-2 ปีนี้ ถือเป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดของพะยูน สัตว์อนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดตรัง 
เนื่องจากได้พบการตายลงไปเป็นจำนวนมาก สวนทางกับการพยายามจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
กับการอนุรักษ์
       
       ทั้งนี้ พะยูนที่ตายลงไปจะมีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 1-20 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดมาจากปัญหาเดิมๆ
 เรื่องเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น อวนปลากระเบน หรือเบ็ดราวไว โดยเจ้าหน้าที่ก็มี
ข้อมูลที่ชัดเจนแต่ไม่อาจดำเนินการอะไรได้ อันเนื่องมาจากปัญหาการทำงานที่ซับซ้อน
ของหลายหน่วยงาน ประกอบกับความไม่จริงใจ หรือการใส่เกียร์ว่าง รวมทั้งอาจจะมีเรื่อง
ของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ยังคงพบเห็นพะยูนต้องตายลงไปด้วยสาเหตุเหล่านี้
       

                                                  พบซากพะยูนหนัก 180 กก. ถูกฆ่าแล้วตัดเขี้ยว



       ด้าน นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากร
ทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงสถานการณ์พะยูนในปัจจุบันว่า มีแนวโน้ม
ที่ค่อนข้างจะวิกฤต ซึ่งส่วนใหญ่จะตายมาจากการใช้เครื่องมือการทำประมงประเภทอวน
       
       เนื่องจากสถานการณ์ของการคุกคามได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เลวร้ายมากขึ้น แม้จะมี
หน่วยงานด้านอนุรักษ์ และมีกฎหมายมากมายเพียงใด แต่หากไม่มีแกนนำหลัก หรือมีแผนงานที่
กำหนดมาตรการในระยะยาวอย่างชัดเจน ทั้งพะยูน และทรัพยากรทางทะเลต่างๆ ก็จะถูกทำลาย
จนหมดไป
       
       ขณะที่องค์กรภาคประชาชนอย่าง นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิอันดามัน ก็เห็นว่า
 ในเมื่อปัญหาพะยูน และสัตว์ทะเลหายาก เกิดมาจากคน ฉะนั้น จึงต้องไปแก้ปัญหาที่คน และการ
คุ้มครองพื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นร่วมกัน

       
       ตัวเลขของพะยูนที่เคยมีเหลืออยู่ 150 ตัว กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการร่อยหรอลงไป ท่ามกลาง
การแย่งชิงทรัพยากรทางทะเลที่รุนแรงขึ้นทุกวัน จนอาจทำให้สัตว์อนุรักษ์ชื่อดังชนิดนี้ 
เหลือเพียงแค่ชื่อในอนาคตอันใกล้ 

ภาพและข้อมูลจากhttp://www.manager.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น