วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นกฮูกกับนกเค้าแมวความต่างกันอย่างไร

นกฮูกกับนกเค้าแมวไม่ มีความต่างกันเพราะเป็นนกชนิดเดียวกัน คือวงศ์ของนกเค้า สาเหตุที่เรียกว่านกฮูกซึ่งเป็นชื่อของชาวบ้านตั้ง คงเพราะชาวบ้านเรียกตามเสียงที่มันร้องว่า 'คุก ๆ ฮูก' โดยชื่อทางการของนกฮูก คือ นกเค้าแมว

นกฮูกหรือนกเค้าแมว เป็นนกตระกูลหนึ่งที่กินเนื้อเป็นอาหารมีอยู่ ๑๓๔ ชนิดทั่วโลก โดยจะพบได้ในทุกส่วนของโลก ยกเว้นในแถบขั้วโลกใต้และเกาะในมหาสมุทรบางแห่ง เป็นนกที่ชอบหากินในเวลากลางคืน ฉะนั้นจึงมีระบบตาและหูที่ดีเป็นพิเศษเหนือกว่านกชนิดอื่น โดยมีดวงตาใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้าของศีรษะ รอบ ๆ ตามีขนซึ่งเรียงออกไปเหมือนจานกลม ๆ ใบใหญ่ ตาของมันใช้ชำเลืองดูไปมารอบ ๆ เหมือนตาคน หรือตาสัตว์อื่น ๆ ไม่ได้ ดังนั้นหากต้องการจะดูอะไร นกชนิดนี้จึงต้องหันหน้าตรงไปด้วยจึงจะมองเห็น คอมีขนปกคลุมหนาจึงดูเหมือนเป็นนกคอสั้น แต่ความจริงคอของมันยาวพอที่จะหันหัวไปข้างหลังได้อย่างสบาย ๆ มีหูที่ดีมาก แต่หูทั้งสองข้างโตไม่เท่ากัน จึงทำให้มันรู้ว่าเสียงนั้นมาจากทางไหนได้ดีกว่าสัตว์อื่น ๆ ดังนั้นนกเค้าแมวจึงสามารถจับเหยื่อได้ในที่มืดสนิท โดยโฉบเอาตามเสียง ประกอบกับขนของนกเค้าแมวส่วนมากอ่อนนุ่ม ปลายขนก็อ่อนเป็นพิเศษ ทำให้บินได้เงียบมาก


ไข่ของนกเค้าแมวโดยมากเป็นสีขาว และค่อนข้างกลม ในประเทศไทยนกชนิดนี้มักวางไข่เพียง ๒-๓ ฟอง แต่ในเมืองหนาวจะวางไข่มากฟองกว่า การวางไข่ไม่ได้วางพร้อม ๆ กันวันเดียว แต่วางไข่ห่างวันกันมาก แม่นกจะเริ่มกกไข่ตั้งแต่วางไข่ฟองแรก ฉะนั้นในรังหนึ่ง ๆ จึงมีลูกนกขนาดใหญ่เล็กผิดกันมาก

นกเค้าแมวเป็นนกที่ทำประโยชน์ให้แก่ชาวนามาก เพราะมันชอบกินหนู บางชนิดก็ทำลายตั๊กแตนและแมลงต่าง ๆ ซึ่งเป็นศัตรูของพืช

เหตุ ที่คนกลัวนกเค้าแมว นกฮูก หรือนกแสกซึ่งเป็นนกในวงศ์เดียวกันนี้ ก็เพราะนกเหล่านี้ออกหากินในเวลากลางคืน โดยเฉพาะนกเค้าแมวที่เราเรียกกันว่านกแสกนั้น เมื่อเอาไฟส่องดูมันในเวลากลางคืนจะเห็นวงหน้าน่ากลัวคล้ายหน้าปิศาจที่ เดียว

ประเทศไทยมีนกตระกูลเค้าอยู่ ๑๙ ชนิด คือ
๑. นกแสก
๒. นกแสกแดง
๓. นกเค้าเหยี่ยว
๔. นกเค้าหน้าผากขาว
๕. นกเค้าแดง
๖. นกเค้าภูเขาหูยาว
๗. นกเค้าหูยาวเล็ก
๘. นกเค้ากู่
๙. นกเค้าแคระ
๑๐. นกเค้าโมง
๑๑. นกเค้าจุด
๑๒. นกเค้าป่าหลังจุด
๑๓. นกเค้าป่าสีน้ำตาล
๑๔. นกเค้าแมวหูสั้น
๑๕. นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล
๑๖. นกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรา
๑๗. นกเค้าใหญ่สีคล้ำ
๑๘. นกทึดทือพันธุ์เหนือ
๑๙. นกทึดทือมลายู

นกเหล่านี้แม้จะมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน แต่รูปร่างหน้าตาของมันเมื่อดูผิวเผินจะเหมือนกันทั้งสิ้น

 ภาพจาก อินเทอร์เน็ต ข้อมูลโดย จากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม สำนักพิมพ์สารคดีจาก http://www.thailantern.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น